top of page

น้ำท่วมหนัก! สัญญาณเตือนวิกฤตอาหารและโลกซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ชวนเปลี่ยนมาทาน "อาหารแพลนต์เบส" แก้ปัญหาทั้งสุขภาพและโลกร้อน

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – 29 พฤศจิกายน 2567 : น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือล่าสุดในภาคใต้ 7 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนกว่า 130,000 ครัวเรือน สูญเสียทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดสงขลาและยะลา ที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างรุนแรง และการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยาย พื้นที่การเกษตรปศุสัตว์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนและส่งผลให้เกิดภัยธรรมชาติรุนแรงมากขึ้น 


ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารแพลนท์เบส (Plant Based) มากขึ้น ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอาหารของประชาชนเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ


ภัยพิบัติน้ำท่วม: ผลพวงจากการทำลายป่าเพื่อเลี้ยงสัตว์

การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อขยายพื้นที่การเกษตรปศุสัตว์ ซึ่งคิดเป็นกว่า 75% ของการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกข้าวโพดเป็นอาหารสัตว์ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและไฟป่าที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคอีสานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา


คุณศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ประเทศไทย กล่าวว่า "วิกฤติน้ำท่วมที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่นั้น ไม่ใช่แค่ผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาลึกซึ้งในระบบอาหารของเราด้วย การตัดไม้ทำลายป่าเพื่อปลูกพืชอาหารสัตว์ได้ทำลายสมดุลของระบบนิเวศในประเทศไทยเราและกลุ่มประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้ผู้คนเสี่ยงต่อสภาพอากาศความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่างๆที่รุนแรงมากขึ้น"


ฟาร์มอุตสาหกรรม: ภัยเงียบคุกคามสุขภาพของมนุษย์

นอกจากการทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ฟาร์มอุตสาหกรรมยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์โรคระบาดที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์อย่างร้ายแรง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เตือนว่าฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่ที่แออัดเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคที่สามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ง่าย เช่น ไข้หวัดนก ซึ่งเคยสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรุนแรงในอดีต นอกจากนี้ การใช้ยาปฏิชีวนะเกินขนาดในฟาร์มปศุสัตว์เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา ซึ่งกำลังกลายเป็นวิกฤตสุขภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  


คุณศนีกานต์ รศมนตรี ผู้อำนวยการ ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล ประเทศไทย กล่าวเตือนว่า "เชื้อดื้อยากำลังเปลี่ยนโรคที่รักษาได้ให้กลายเป็นโรคที่เป็นภัยคุกคามต่อชีวิต และนี่คือผลลัพธ์จากการทำฟาร์มแบบไม่ยั่งยืนที่เน้นผลกำไรมากกว่าสุขภาพและความปลอดภัยของทั้งคนและสัตว์"


อาหารแพลนต์เบส: เส้นทางสู่ความยั่งยืนและสุขภาพที่ดี

วิกฤตสภาพภูมิอากาศและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในปัจจุบัน ส่งสัญญาณเตือนให้เราเร่งหาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ การเปลี่ยนมาสู่ระบบอาหารจากพืช (Plant Based Food) เป็นหนึ่งในคำตอบของทางออกที่ยั่งยืน เพราะระบบอาหารจากพืชใช้น้ำน้อยกว่า ใช้ที่ดินน้อยกว่า และปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าระบบปศุสัตว์อย่างมาก อีกทั้งยังช่วยรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ  


"การลดการทำเกษตรเพื่อเลี้ยงสัตว์ จะช่วยชะลอการตัดไม้ทำลายป่า ลดผลกระทบจากน้ำท่วมและไฟป่าได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ การบริโภคอาหารจากพืชยังสอดคล้องกับเป้าหมายด้านสภาพอากาศของประเทศไทยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายในปี 2573 และยังส่งเสริมสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้นอีกด้วย" คุณศนีกานต์ กล่าว


ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล เรียกร้องรัฐบาลไทยเร่งปฏิรูประบบอาหารเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน


วิกฤติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นสัญญาณเตือนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารของประเทศไทย ซิเนอร์เจีย แอนนิมอล องค์กรพิทักษ์สัตว์ระดับนานาชาติ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยเร่งกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบอาหารที่ยั่งยืน ที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารจากพืช โดยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรผู้ผลิตใช้แนวทางการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศ และสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ประชาชนเกี่ยวกับประโยชน์ของอาหารจากพืช  เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ


"น้ำท่วมล่าสุดได้แสดงให้เห็นแล้วว่าระบบอาหารของประเทศไทยในปัจจุบันไม่ยั่งยืนและสร้างความเสียหาย ทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และความมั่นคงของประเทศ การเปลี่ยนแปลงสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการสร้างอนาคตที่มั่นคงและมีสุขภาพที่ดีให้กับคนไทยทุกคน" คุณศนีกานต์ กล่าวสรุป

Comentários


bottom of page