top of page

การบริโภคเนื้อสัตว์ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี ผลจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินช่วงโรคระบาด

องค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติย้ำ ผู้บริโภคเลือกอาหารที่ยั่งยืนและดีต่อสุขภาพกว่าเดิม

รายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผย การบริโภคเนื้อสัตว์ต่อจำนวนประชากร คาดการณ์ลดลงต่ำสุดในรอบ 9 ปี ด้วยสถิติลดลงกว่า 3% จากปี 2019 เผยให้เห็นปริมาณการบริโภคที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ปี 2000

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติย้ำว่า ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วง COVID-19 ส่งผลกระทบสู่ปัญหาการขนส่งติดขัด เช่น ข้อจำกัดด้านการคมนาคม รวมถึงความต้องการของร้านอาหารที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการของเนื้อสัตว์ทั่วโลกลดลง นอกจากนี้ หัวใจสำคัญอีกข้อได้แก่ การขาดแรงงานเพื่อการบรรจุเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เกิดการระบาดไวรัสร้ายแรงมากที่สุดในหลายประเทศทั่วโลก อีกทั้งกรณีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรในภูมิภาคเอเชียก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ความต้องการเนื้อสัตว์ลดลงด้วย ส่งผลให้สุกรกว่าหนึ่งในสี่ทั่วโลกต้องตายหรือถูกเชือดจากการติดโรค

ในประเทศไทย ความต้องการผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลดลงตามกระแสโลก โดยรายงานของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ระบุว่าการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ความต้องการเนื้อไก่ เนื้อหมู นมพร้อมดื่ม และผลิตภัณฑ์ประมงในประเทศลดลง สืบเนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ซึ่งส่งผลกระทบถึงการปิดโรงแรม และธุรกิจการบริการอื่น ๆ รวมถึงการกำหนดมาตรการที่เข้มงวดของรัฐบาลเกี่ยวกับการเว้นระยะห่างทางสังคม

ทว่า แม้ก่อนเกิดโรคระบาด สถาบัน Rabobank ได้ทำการคาดการณ์ว่า ความต้องการโปรตีนจากสัตว์และอาหารสัตว์จะลดลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากเทรนด์การบริโภคใหม่ ๆ โดยการคาดการณ์ของสถาบันระบุว่า การบริโภคเนื้อวัวจะได้รับผลกระทบ ลดลง 9-13% เนื้อหมูจะลดลง 4-17% และปลาจะลดลง 6-11%  ส่วนความต้องการของสัตว์ปีกในประเทศไทยจะลดลงถึง 1%-4%

ปูทางให้กับวิถีการกินอาหารแบบใหม่


เมื่อการบริโภคเนื้อสัตว์ลดลง ในประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา ความต้องการของผลิตภัณฑ์จากพืชกลับสูงขึ้นกว่า 53%

เพื่อสนับสนุนผู้บริโภคที่สนใจปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน สู่อาหารที่ยั่งยืน ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรต่อสัตว์ร่วมโลก องค์กรพัฒนาเอกชน ซิเนอร์เจีย แอนิมอล จึงนำเสนอโครงการทดลองอาหารวีแกนฟรี ชื่อ "โครงการท้าลอง 22 วัน" ซึ่งเชิญชวนผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อมาลองเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารแบบใหม่เป็นเวลา 21 วัน โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับสูตรอาหาร ความช่วยเหลือด้านสารอาหาร รวมถึงเคล็ดลับในการกินอาหารจากพืชจากทีมงานผู้เชี่ยวชาญ

นายธีรธร กล่อมเกลา ผู้จัดการโครงการท้าลอง 22 วัน ซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าวว่า "นอกจากเหตุผลทางด้านการขนส่งแล้ว เหตุการณ์การแพร่ระบาดยังส่งผลให้ผู้คนหันมาพิจารณาพฤติกรรมการกินอาหารของตนเองมากขึ้น จากรายงานขององค์กรสหประชาชาติ ชี้ให้เห็นว่า การแพร่ระบาดใหม่ๆ ที่มีความคล้ายคลึงกับการแพร่ระบาดในปัจจุบัน หรืออาจร้ายแรงยิ่งกว่า อาจเกิดขึ้นอีกได้ หากเราไม่เปลี่ยนแปลงวิธีการบริโภคอาหาร"

แม้ว่าต้นกำเนิดที่แท้จริงของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่มีการสันนิษฐานว่าการแพร่เชื้อเกิดขึ้นจากสัตว์ป่าแพร่มาสู่คน ซึ่งในแง่ของความเสี่ยงที่อาจเกิดการระบาดครั้งใหม่นี้ สัตว์ที่ถูกเลี้ยงไว้ในฟาร์มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถือเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงมากเช่นกัน

จากรายงานขององค์กรสหประชาชาติ พบว่า 75% ของเชื้อโรคที่พบในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากสัตว์ รวมไปถึง เขื่อน การชลประทาน และ ฟาร์มปศุสัตว์มีความเชื่อโยงกับการติดเชื้อในมนุษย์ถึง 25% องค์กรสหประชาชาติได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงระหว่างเชื้อไวรัสและการบริโภคเนื้อสัตว์ ตามที่โครงการด้านสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เผยว่า สัตว์จำพวกวัว หมู และไก่ เป็นปัจจัยของการแพร่กระจายเชื้อโรค เพราะสัตว์จำพวกนี้ มักถูกเลี้ยงในสภาพที่ “ไม่เหมาะสม” เพื่อให้ผลผลิตที่สูงกว่า อีกทั้งยังอยู่ในสถานที่ที่ขาดความหลากหลายทางสายพันธุ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อง่ายกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสถานที่ที่มีสัตว์หลากหลายสายพันธุ์อยู่รวมกัน ยิ่งไปกว่านั้น ฟาร์มปศุสัตว์ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จะถูกเลี้ยงอยู่ในระบบที่เรียกว่า ฟาร์มเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นระบบที่ขังสัตว์หลายพันชีวิตไว้ด้วยกัน และ ไม่มีโอกาสให้สัตว์ได้รักษาระยะห่างจากกันเลย

ความหนาแน่นของปศุสัตว์ส่งผลกระทบให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางสายพันธุ์ และทำให้สัตว์ รวมถึงโรคจากสัตว์ ใกล้ชิดกับมนุษย์ยิ่งขึ้น องค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นส่วนผลักดันให้เกิดการแพร่เชื้อของไวรัสสายพันธุ์ใหม่และอาจนำไปสู่การแพ่ระบาดในอนาคต

ในขณะเดียวกัน การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าในโรงฆ่าและ ชำแหละสัตว์ในสหรัฐอเมริกา บราซิล รวมไปถึงเยอรมัน ส่งผลให้การแพร่เชื้ออย่างกว้างขวางในหมู่คนงานโรงแพ็คเนื้อสัตว์กลายเป็นข่าวใหญ่

“จากข้อมูลข้างต้น ทำให้สรุปได้ว่า สังคมของเราควรจะพึ่งผลิตภัณฑ์จากสัตว์ให้น้อยที่สุดเพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของเราเอง” นายธีรธรกล่าว “ด้วยความต้องการเนื้อสัตว์ที่ลดลงและตลาดอาหารแพลนต์เบสมีความต้องการสูงขึ้น ดูเหมือนว่าเรากำลังเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงใหม่ในการบริโภคอาหาร” นายธีรธร กล่าวเสริม

ท้ายสุด ซิเนอร์เจีย แอนิมอลยังเรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดการตัดไม้ทำลายป่า การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบ การขยายฟาร์มปศุสัตว์ และการส่งออกสัตว์เป็น ๆ เพื่อการบริโภค เพื่อสนับสนุนระบบอาหารที่ดีต่อสุขภาพ โดยการรณรงค์ออนไลน์เปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ที่สนใจสามารถลงชื่อได้ที่ www.change.org/pandemicsthailand

Comments


bottom of page