top of page

นักเคลื่อนไหวทั่วทวีปเอเชียถามแมคโดนัลด์เรื่องที่มาของไข่ไก่



วันที่ 10 มีนาคม - วันนี้ องค์กรพิทักษ์สัตว์ชั้นนำในทวีปเอเชียหลายองค์กรรวมตัวกันเพื่อทำการรณรงค์หน้าร้านแมคโดนัลด์ เรียกร้องให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดรายยักษ์เลิกเสิร์ฟไข่ไก่ที่มาจากฟาร์มที่ใช้กรงขังในสาขาร้านอาหารทั่วทวีปเอเชีย การรณรงค์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันเดียวกันในกว่า 10 เมืองใหญ่ทั่วทวีปเอเชีย จาก 8 ประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ จาการ์ต้า มะนิลา บาลี ยกยาการ์ตา ไทเป โซล โฮจิมินห์ ฮานอย และ ฮ่องกง โดยการรณรงค์จะใช้เวลา 9 สัปดาห์ ด้านหน้าสาขาหลักของแมคโดนัลด์หลายแห่ง


นักเคลื่อนไหวถือภาพแม่ไก่ถูกขังอยู่ในกรง แม่ไก่ซึ่งอยู่ในกรงตับถูกขังอยู่ในพื้นที่คับแคบ ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย กางปีกไม่ได้เต็มที่ หรือหมุนตัวไปมาอย่างอิสระไม่ได้

“เราจัดกิจกรรมระดับภูมิภาคเช่นนี้ขึ้น เพราะเรารู้สึกผิดหวังที่แมคโดนัลด์ยังไม่จัดการลงมือทำอะไรเพื่อปรับปรุงสวัสดิภาพของแม่ไก่ในห่วงโซ่อุปทานในทวีปเอเชีย ไม่เหมือนกับแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่อื่นๆ ซึ่งได้ประกาศให้คำมั่นเลิกใช้กรงขังในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกแล้ว” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการทั่วไปประจำภูมิภาคขององค์กรพิทักษ์สัตว์ ซิเนอร์เจีย แอนิมอล กล่าวให้ความเห็น ซิเนอร์เจีย แอนิมอล เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ ซึ่งทำงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ Global South เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ในกระบวนการผลิตอาหาร และส่งเสริมการบริโภคที่เห็นอกเห็นใจมากกว่าเดิม


ฟาสต์ฟู้ดชื่อดังหลายแบรนด์ต่างบอกลากรงขัง


ฟาสต์ฟู้ดหลายแบรนด์ซึ่งเป็นคู่แข่งของแมคโดนัลด์ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะยุติการใช้ไข่ไก่จากฟาร์มใช้กรงขังในทวีปเอเชียแล้ว อาร์บีไอ เจ้าของเบอร์เกอร์คิง และทิมฮอร์ตันส์ ร่วมด้วย ยัม! แบรนดส์ เจ้าของเคเอฟซี พิซซ่าฮัท และทาโก้เบล ได้ประกาศให้คำมั่นว่าจะเลิกใช้ไข่ไก่จากระบบกรงในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกภายในปี 2030 ส่วนแมคโดนัลด์ คำประกาศนโยบายเกี่ยวกับไข่ไก่ที่มีอยู่ตอนนี้ ครอบคลุมแค่สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และลาตินอเมริกาเท่านั้น แต่ไม่มีนโยบายดังกล่าวสำหรับภูมิภาคเอเชีย ในสหราชอาณาจักร เมนูอาหารเช้าของแมคโดนัลด์ใช้แค่ไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงเท่านั้นตั้งแต่ปี 1998


ต้นปีนี้ แมคโดนัลด์ถูกตั้งคำถามเรื่องการไม่มีนโยบายสวัสดิภาพสัตว์ที่ชัดเจน ในรายงาน Global Cage-Free Restaurant Report ซึ่งจัดทำโดย Open Wing Alliance การรวมตัวกันของกลุ่มองค์กรพิทักษ์สัตว์กว่า 70 องค์กรทั่วโลก ซึ่งมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในการปลดปล่อยแม่ไก่จากกรงขัง รายงานฉบับนี้เอ่ยถึง “worst offenders” ในธุรกิจร้านอาหาร “แมคโดนัลด์มีร้านอาหารรวมกันแล้วกว่า 10,000 สาขา ทั่วทั้งทวีปเอเชีย การไม่ประกาศใช้นโยบายไข่ไก่ปลอดกรงแบบนี้ มีผลกระทบต่อทั้งสัตว์ และสุขภาพของมนุษย์” วิชญะภัทร์กล่าวเสริม งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า นอกจากความกังวลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์แล้ว ฟาร์มที่ใช้กรงขังยังมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อซาลโมเนลลามากกว่า เมื่อเทียบกับระบบปลอดกรง องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าเชื้อซาลโมเนลลาจะทำให้เกิดการเสียชีวิตกว่า 155,000 รายทั่วโลกในแต่ละปี7


แมคโดนัลด์ใช้มาตรฐานการจัดซื้อที่แตกต่างสำหรับผู้บริโภคในเอเชีย


ในปี 2020 แมคโดนัลด์เริ่มประกาศ “values-driven mindset” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การขยายธุรกิจ โดยกล่าวถึงแผนในการ “สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลก” เพื่อตอบสนองต่อผู้บริโภค ซึ่งมีความตระหนักรู้เกี่ยวกับประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์มากขึ้นเรื่อยๆ


“แต่สำนักงานใหญ่แมคโดนัลด์ทั้งระดับโลก และระดับภูมิภาค ยังไม่เริ่มสื่อสารกับนักเคลื่อนไหวในเอเชียอย่างจริงจัง ถึงแผนการปรับใช้ไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรง” วิชญะภัทร์อธิบาย “ผู้คนนับหมื่นคน ได้ขอให้แมคโดนัลด์ปรับใช้นโยบายไข่ไก่จากฟาร์มปลอดกรงในทวีปเอเชียแล้ว ถึงเวลาที่แมคโดนัลด์ต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเสียที”


ผู้ที่สนใจสามารถลงชื่อสนับสนุนการเคลื่อนไหวครั้งนี้ที่ GoCageFreeMcDonalds.org


เกี่ยวกับซิเนอร์เจีย แอนิมอล

ซิเนอร์เจีย แอนิมอลเป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์นานาชาติที่ดำเนินงานในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (Global South) เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ในฟาร์มปศุสัตว์และส่งเสริมอการบริโภคที่มีความเห็นอกเห็นใจมากขึ้น องค์กรได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในองค์กรพิทักษ์สัตว์ที่ทำงานได้มีประสิทธิภาพที่สุดในโลกโดย Animal Charity Evaluators (ACE)


เกี่ยวกับ Open Wing Alliance

Open Wing Alliance เป็นการรวมตัวกันขององค์กรพิทักษ์สัตว์จากทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความร่วมมือเพื่อรณรงค์ ยุติความทุกข์ทรมานต่อไก่ทั่วโลก โดยเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2016 โดยองค์กรพิทักษ์สัตว์ The Humane League และมีสมาชิกกว่า 80 องค์กรทั่วโลก เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสวัสดิภาพสัตว์ของบริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง และสร้างมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ใหม่สำหรับภาคธุรกิจต่างงๆ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก


Comments


bottom of page