top of page

จังหวัดในอาร์เจนติน่า ห้ามทำฟาร์มปลาแซลมอน ห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สมาชิกสภานิติบัญญัติจังหวัดติเอร์ร่า เดล ฟูเอโก จังหวัดหนึ่งในตอนใต้สุดของประเทศอาร์เจนติน่า ใกล้ทวีปแอนตาร์กติกา ลงมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบร่างกฎหมายห้ามทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาแซลมอน ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้ประเทศอาร์เจนติน่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ห้ามการทำฟาร์มปลาแซลมอน


ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้กับการทำฟาร์มแซลมอนเชิงอุตสาหกรรมในเขตลุ่มน้ำของจังหวัด มหาสมุทร และทะเลสาปของติเอร์ร่า เดล ฟูเอโก ในพ.ศ. 2561 รัฐบาลอาร์เจนติน่าลงนามข้อตกลงกับประเทศนอร์เวย์เพื่อส่งเสริมการทำฟาร์มปลาแซลมอนในช่องแคบบีเกิล ในจังหวัดติเอร์ร่า เดล ฟูเอโก แต่หลังจากที่ชุมชนท้องถิ่นประท้วง ร่างกฎหมายนี้ก็ผ่านการเห็นชอบเพื่อใช้เป็นมาตรการป้องกัน เลี่ยงไม่ให้เกิดการทำอุตสาหกรรมประมงในจังหวัดติเอร์ร่า เดล ฟูเอโก


ข้อกฎหมายดังกล่าวเกิดจากความใส่ใจในผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแถบช่องแคบบีเกิ้ล ซึ่งเป็นพื้นที่ธรรมชาติระหว่างประเทศชิลีและประเทศอาร์เจนติน่า และเป็นถิ่นที่อยู่ของชุมชนพื้นเมืองอย่างชนเผ่ายากัน ตลอดจนเหล่าสัตว์ป่านานาพันธุ์


มหาวิทยาลัยบัวโนส ไอเรส ดำเนินการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดจากการห้ามทำฟาร์มปลาแซลมอน ได้ผลสรุปว่าการทำฟาร์มปลาแซลมอน อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบต่อการท่องเที่ยวในภาคพื้นนี้ ซึ่งสร้างตำแหน่งงานกว่า 17,000 ตำแหน่ง


ป้ายขนาดยักษ์ที่ช่องแคบบีเกิ้ล เขียนเป็นภาษาสเปนว่า “ไม่เอาฟาร์มปลาแซลมอน”



ภาพถ่ายทางอากาศช่องแคบบีเกิ้ล


ฟาร์มปลาแซลมอนอาจทำลายสภาพแวดล้อมอย่างใหญ่หลวงได้ ดังที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศชิลี ประเทศเพื่อนบ้านของอาร์เจนติน่า ประเทศชิลีเป็นผู้ผลิตปลาแซลมอนรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองรองจากประเทศนอร์เวย์ น่านน้ำของประเทศชิลีได้รับผลกระทบจากประมาณของเสียจำนวนมหาศาลที่เกิดจากฟาร์มปลาแซลมอนขนาดใหญ่ต่างๆ ที่มาในรูปอุจจาระปลาและเศษอาหารที่ปลาในฟาร์มกินไม่หมด


การทำฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศชิลี


ปลาที่เลี้ยงในฟาร์มจะป่วยเป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย เช่นโรคที่เกิดจากแตนทะเล เชื้อรา หนอน แบคทีเรีย และพยาธิต่างๆ หากเมื่อปลาที่เลี้ยงในฟาร์มหลุดรอดออกจากฟาร์มไปสู่ธรรมชาติ ก็จะนำโรคเหล่านี้ไปติดต่อสู่สัตว์น้ำประจำถิ่น เพื่อแก้ปัญหานี้ ฟาร์มเพาะปลามักใช้ยาปฏิชีวนะ การปฏิบัติเช่นนี้ทำให้ยาปฏิชีวนะและเชื้อแบคทีเรียดื้อยาปนเปื้อนในน้ำและดินได้ แล้วจะยังจะไปปนเปื้อนในเนื้อปลาที่คนบริโภคด้วย

มีความเข้าใจผิดกันทั่วไปว่า การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำนั้นยั่งยืนกว่าการประมงตามธรรมชาติ แต่ที่จริงแล้ว การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นมากกว่าจะแก้ปัญหา ปลาบางสายพันธุ์ที่นิยมเพาะเลี้ยงในฟาร์ม อย่างปลาแซลมอนเป็นปลาที่กินเนื้อเป็นอาหาร ในปีหนึ่งๆ แซลมอนในฟาร์มต้องกินปลาที่จับได้ตามธรรมชาติถึง 460-1,100 พันล้านตัว โดยประมาณแล้ว การเพาะเลี้ยงปลาแซลมอนให้ได้เนื้อปลาน้ำหนัก 1 กิโลกรัมนั้น ต้องใช้ปลาที่จับตามธรรมชาติมากกว่า 800 กรัม จำนวนที่ว่านี้ยังไม่รวมสัตว์น้ำพลอยได้ ซึ่งหมายถึงสัตว์น้ำที่พลอยถูกจับติดแหหรืออวนแม้จะไม่ได้เป็นเป้าหมายด้วยซ้ำ


การทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาก่อให้เกิดความทรมานต่อปลาอย่างมหาศาล


นอกจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การทำฟาร์มปลาแซลมอนยังทำให้ปลาต้องทนทุกข์ทนมานทั้งชีวิต ก่อนจะเผชิญความตายอันโหดร้าย

ภาพจากการสืบสวนโดยองค์กร Compassion in World Farming ซึ่งเผยแพร่โดยองค์กรซิเนอร์เจีย แอนิมอลในประเทศไทยเมื่อต้นปีนี้ เผยให้เห็นความจริงอันน่าตกใจเรื่องฟาร์มปลาแซลมอนในประเทศสก็อตแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สาม ปลาแซลมอนเป็นสัตว์ที่ต้องอพยพย้ายถิ่นโดยว่ายน้ำไกลถึง 2,000 ไมล์ ระหว่างน้ำจืดและท้องทะเล แต่เมื่ออยู่ในฟาร์ม ปลาแซลมอนจะถูกขังในกระชังใต้น้ำต้องว่ายน้ำอย่างไร้จุดหมายในสภาพแวดล้อมที่แออัด และต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้ยาวนานถึงสองปี


ภาพวิดิโอที่บันทึกมาแสดงให้เห็นปลาถูกปรสิตกัดกินทั้งเป็น แผลเปิดเหวอะหวะ และตัวปลามีเนื้อขาดแหว่งเป็นแผลใหญ่ ปลาบางตัวตาบอดสนิท และต้องทนทรมานกับร่างกายพิกลพิการ



ผู้คนมากมายอาจรู้สึกเห็นอกเห็นใจปลาได้ยาก เพราะปลามีรูปร่างไม่ใกล้เคียงกับมนุษย์เอาเสียเลย ไม่เหมือนสัตว์สายพันธุ์อื่นอย่างสุนัข แมว หรือหมู แต่ก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่แสดงว่า ปลาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก มีทักษะการรู้คิดและทักษะทางกาย อาทิ การใช้เครื่องมือหาอาหาร หรือการจดจำใบหน้าปลาตัวอื่นที่คุ้นเคยหรือใบหน้ามนุษย์ด้วยซ้ำไป


การห้ามทำฟาร์มปลาแซลมอนในจังหวัดติเอร์ร่า เดล ฟูเอโก เป็นอีกก้าวหนึ่งไปในทิศทางที่ดี คุณเองก็มีส่วนร่วมเชิงรุกในการช่วยสัตว์น้ำได้ โดยการเปลี่ยนวิถีการบริโภค เริ่มจากเลิกกินปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ เสียตั้งแต่วันนี้! คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลดสูตรอาหารทะเลที่ทำจากพืชในรูปแบบอีบุ๊ค ฟรี!



Comments


bottom of page