โลกร้อนอาจทำให้สิทธิมนุษยชนต้องจบสิ้น ยูเอ็นเตือน
รายงานโดยฟิลลิป แอลสตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากองค์การสหประชาชาติระบุว่า วิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัญหารุนแรงขึ้นทุกวันจะบั่นทอนสิทธิมนุษยชน และทำให้เกิด “การแบ่งชนชั้นด้านภูมิอากาศ” (Climate apartheid) ฟิลลิปกล่าวว่า “สิทธิมนุษยชนอาจจะไม่รอดผ่านกลียุคที่กำลังคืบคลานเข้ามา”
แม้ว่าจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด จะมีเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่มาจากประชากรกลุ่มยากจน แต่กลับเป็นผู้คนเหล่านี้เองที่ต้องแบกรับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศถึง 75 เปอร์เซ็นต์
แอลสตันกล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศเป็นภัยคุกคามที่จะทำให้ความก้าวหน้าด้านการพัฒนา สุขภาพของประชากรโลก และการลดความยากจนตลอด 50 ปีที่ผ่านมาสูญเปล่า”
ผลกระทบมีตั้งแต่ที่เห็นได้ชัด เช่น การริดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานเพื่อเข้าถึงน้ำ อาหาร และที่อยู่อาศัย ไปจนถึงผลกระทบที่ยังเห็นไม่ชัดเจนมากนัก (ในตอนนี้) เช่น ภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย ไปจนถึงสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
ทั้งหมดนี้เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันระหว่างประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น และการแบ่งชนชั้นทางสังคม เนื่องจากประชากรกลุ่มที่ด้อยโอกาสที่สุดจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า ในขณะที่ประชากรที่ร่ำรวยสามารถจ่ายค่าอาหารราคาสูง รวมถึงใช้เงินเพื่อหนีให้พ้นจากอากาศร้อนจัดและความขัดแย้ง คุณคิดไม่ผิดหรอก การต่อสู้แย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติอาจทำให้เกิดสงคราม
ปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมา ผนวกกับการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ อาหาร น้ำสะอาด และการอพยพย้ายถิ่นของผู้คนจำนวนมากจะทำให้เกิดความรู้สึกชาตินิยมรุนแรง กลุ่มคนที่เกลียดกลัวชาวต่างชาติ กลุ่มเหยียดผิว และกลุ่มต่อต้านอื่นๆ จะยิ่งทำให้ปัญหาที่มีอยู่แล้วหนักขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ฟิลลิปกล่าวว่า “การรักษาสมดุลระหว่างสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองจะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก”
ผู้อพยพจากสภาพภูมิอากาศ
ทวีปแอฟริกาจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ สถานการณ์ยิ่งน่าเป็นห่วงขึ้นไปอีก เนื่องจากทวีปแอฟริกามีความสามารถในการปรับตัวต่ำ เกาะเล็ก ๆ ซึ่งบางแห่งก็มีคนอาศัยอยู่ อาจจมหายไปเนื่องจากพายุที่รุนแรงและระดับน้ำทะเลที่ขึ้นสูง ลุ่มน้ำสามเหลี่ยมเศรษฐกิจทั้งในเอเชียและแอฟริกา ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
คาดการณ์ว่าผู้อพยพจากสภาพแวดล้อมจะมีจำนวนกว่า 25 ล้านถึงหนึ่งพันล้านคนภายในปี 2050 ผู้คนเหล่านี้โดนบังคับให้ต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องจากที่อยู่กลายเป็นทะเลทราย ระดับน้ำทะเลขึ้นสูง และดินเสื่อมสภาพ รวมถึงภัยจากอากาศที่รุนแรง เช่น พายุไซโคลนเขตร้อน ฝนตกอย่างหนัก และน้ำท่วม ปัญหาทั้งหมดจะยิ่งทวีความรุนแรงจากภาวะโลกร้อน ความมั่นคงทางอาหารรวมถึงการเข้าถึงน้ำสะอาดจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก
ลองมาดูเส้นทางอพยพเส้นทางหนึ่งซึ่งน่าเป็นห่วงที่สุด คือการอพยพจากเม็กซิโกมาสหรัฐอเมริกา คุณคงเคยได้ยินข่าวน่าใจหาย เกี่ยวกับเด็กที่โดนแยกจากพ่อแม่ที่พรมแดนสหรัฐอเมริกา และพ่อแม่โดนส่งกลับประเทศโดยพาลูกๆ ไปด้วยไม่ได้
ภูมิภาคนี้ประกอบด้วยประเทศกัวเตมาลา เอล ซัลวาดอร์ และฮอนดูรัส เป็นแหล่งที่มีผู้ลี้ภัยข้ามฝั่งมาชายแดนประเทศสหรัฐอเมริกามากที่สุดในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการเสื่อมสภาพทางสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศโลกแปรปรวน อุณหภูมิในภูมิภาคอเมริกากลางสูงขึ้นเฉลี่ย 0.5 องศาเซลเซียสตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 และคาดการณ์ว่าจะสูงขึ้นอีก 1-2 องศาเซลเซียสก่อนปี ค.ศ. 2050
ในฮอนดูรัส อาจจะไม่มีฝนตกบริเวณพื้นที่ที่ต้องการน้ำ แต่อาจมีน้ำท่วมเพิ่มมากขึ้นกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่ ในกัวเตมาลา พื้นที่แห้งแล้งจะขยายวงกว้างมากขึ้นเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ส่งผลให้พื้นที่ทำกินของชาวสวน ชาวไร่แห้งแล้ง เอล ซัลวาดอร์จะสูญเสียชายฝั่งทะเล 10 ถึง 28 เปอร์เซ็นต์ภายในปลายศตวรรษนี้
ในตอนนี้ ปัญหาการอพยพย้ายถื่นก็เป็นปัญหาใหญ่มากอยู่แล้ว คุณนึกภาพออกไหมว่าในอนาคตมันจะแย่ขนาดไหน?
อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้?
นี่ถือเป็นยาขมที่ใคร ๆ ก็กลืนไม่ลง การปศุสัตว์เป็นปัจจัยสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 14.5 ถึง 18 เปอร์เซ็นต์จากก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ข้อมูลขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติระบุว่าการผลิตเนื้อวัวปล่อยก๊าซถึง 41 เปอร์เซ็นต์จากภาคปศุสัตว์ทั้งหมด ส่วนอุตสาหกรรมนมผลิตก๊าซ 20 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขเปอร์เซ็นต์เหล่านี้คำนวนจากกระบวนทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การผลิตอาหารสัตว์ กระบวนการย่อยอาหารของสัตว์เคี้ยวเอื้อง และขั้นตอนการเก็บรักษาและผลิตปุ๋ยคอก
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคปศุสัตว์มีปริมาณสูงกว่าก๊าซเรือนกระจกจากภาคคมนาคมทั่วทั้งโลกรวมกันเสียอีก ! คิดไปแล้วก็น่าแปลกที่เรามักคิดกันว่าต้องเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลถึงจะลดรอยเท้าคาร์บอนได้ คุณก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันใช่ไหม
ถ้าได้รู้ข้อมูลนี้อาจจะตกใจ บริษัทผู้ผลิตเนื้อใหญ่สามรายของโลกคือ JBS, Cargill และ Tyson ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าประเทศฝรั่งเศสทั้งประเทศเสียอีก บริษัทผู้ผลิตเนื้อรายใหญ่ห้ารายของโลกสร้างมลพิษมากกว่าบริษัทน้ำมันรายใหญ่ เช่น Exxon, Shell และ BP
เรากำลังเอาความมั่นคงทางอาหารของทั้งโลกมาแลกกับเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารที่มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เข้าถึงได้
เราเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องสัตว์มาตลอด ตอนนี้คงถึงคราวที่คุณต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสัตว์ โดยคำนึงถึงผู้คนที่อยู่บนโลกนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ เด็กๆ ครอบครัว ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงของเรา… เราช่วยให้พวกเขารอดพ้นจากความทรมาน ความอดอยาก และความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เพียงแค่เปลี่ยนอาหาร เลิกกินเนื้อสัตว์ นม และไข่ และมาช่วยพวกเราเผยแพร่ความรู้ด้วยการเข้าร่วมเครือข่ายอาสาสมัครประเทศไทย คลิกที่นี่เลยค่ะ!